วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยเสี่ยงนางด้ง


ประเพณีไทยเสี่ยงนางด้ง

การเสี่ยงนางด้ง นิยมทำเมื่อฝนแล้งเพื่อเป็นการขอฝน และเสี่ยงทายว่าฝนจะตกหรือไม่และถ้าตกจะตกเมื่อใด นอกนี้อาจจะถามแม่นางด้งอย่างอื่นอีก เช่น ถามในเรื่องของหายตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
ประเพณีไทยเสี่ยงนางด้ง วิธีการเสี่ยงนางด้ง หากระด้งมา ๒ คู่ ซึ่งต้องเป็นของแม่หม้าย(ผัวตาย)จัดเครื่องบูชาครูได้แก่ เทียนและดอกไม้อย่างละ ๑ คู่ กระจก หวีสร้อยคอ กำไลแขน กำไลขาอย่างละ ๑ อัน และข้าวเหนียว ๑ ก้อน สร้อยคอ สร้อยแขน กำไลขา ทำด้วยก้านใบหมากเยา(ต้นสบู่) เอาสิ่งของดังกล่าวใส่กระด้งและเอากระด้งประกบหรือหันหน้าเข้าหากันมีเครื่องบูชาอยู่ข้างใน เอาไม้คานมาทาบกระด้งเป็นคู่ไขว้กันเป็นตีนกา มัดไม้คานแต่ละคู่ติดกับกระด้งให้แน่น นอกนี้มีเครื่องคาย ได้แก่ บายศรีพร้อมพาเสื้อพาผ้า ขันห้า ขันแปด คือ เทียนและดอกไม้อย่างละห้าคู่และแปดคู่ สุรา ๑ ขวด ไข่ต้ม ๑ ฟอง สากแม่หม้าย ๑ อัน เอาเครื่องเหล่านี้วางบนพาเสื้อพาผ้าตอกหลัก ๒ หลักสองข้างกระด้ง สมมุติให้เป็นหลักฝน ๑ หลัก และหลักแล้ง ๑ หลัก พอเตรียมเสร็จวาง กระด้งไว้ระหว่างหลักแล้วให้ผู้หญิง ๒ คน ซึ่งเป็นลูกหัวปีคนหนึ่งและลูกคนสุดท้องคนหนึ่ง นั่งหันหน้าเข้าหากันจับกระด้งตั้งชันขึ้นจากพื้นให้ไม้คานคู่หนึ่งตั้งชันกับพื้นดินอีกคู่หนึ่งกางออกไป ๒ ข้างคล้ายแขน มือทั้งสองของแต่ละคนจับไม้คานครงขอบกระด้งที่คล้ายเป็นโคนแขนทำพิธีป่าวสัคเคฯลฯ บอกกล่าวเทวดาและวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ามาสิงกระด้งและขอให้ช่วยดลบัลดาลให้ฝนตกและดลบันดาลสิ่งอื่นๆตามที่ร้องขอ
หลังจากเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้วเริ่มประเพณีไทยนางด้งด้วย หันหน้าพาว่าคำเซิ้งเป็นวรรคๆ ส่วนคนอื่นที่เป็นลูกคู่ว่าตามพร้อมๆกันหลายๆ จบจนกว่าดวงวิญญาณจะมาสิงกระด้งคือกระด้งจะเต้นหรือเคลื่อนที่ แต่ถ้าว่าคำเซิ้งหลายจบแล้วกระด้งยังไม่เคลื่อนที่ก็ให้เปลี่ยนคนคู่ใหม่จัดกระด้ง เมื่อกระด้งเต้นหรือเคลื่อนที่ได้แสดงว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสิงกระด้งแล้ว ต่อไปก็มีการถามหรือทายกันเกี่ยวกับฝนเช่น ถามว่าฝนจะตกหรือไม่ถ้าฝนตกแม่นางด้งจะตีหลักฝน ถ้าหากตีหลักแล้งแสดงว่าฝนจะแล้ง ถ้าแม่นางด้งทำการขุดร่องหลายๆครั้ง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ก่วยหล่อ หมายความว่า ฝนจะตกในเร็ววันนี้และตกหนักด้วย อาจถามอีกว่าฝนจะตกเมื่อไร ขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ และอาจถามอย่างอื่นอีก

วันพุธที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยการสวดคาถาปลาค่อ


ประเพณีไทยการสวดคาถาปลาค่อ

ประเพณีไทยการสวดคาถา ปลาค่อ ปลาค่อ หมายถึง ปลาช่อน การสวดคาถาปลาค่อเป็นการทำบุญพิธีขอฝนอย่างหนึ่งของชาวอีสาน ซึ่งควรศึกษาเรียนรู้ประเพณีนี้เอาไว้ประดับความรู้

ประเพณีไทย
ครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพญาปลาค่อ(ปลาช่อน) อาศัยอยู่ในสระแห่งหนึ่ง คราวหนึ่งเกิดฝนแล้ง น้ำในแม่น้ำลำธารตลอดหนองบึงได้แห้งไปทั่วหมด ทำให้บรรดาสัตว์น้ำทั้งหลาย มี ปลา ปู กุ้ง หอย เป็นต้น ได้รับความทุกข์ทรมานมาก เพื่อเป็นการช่วยสัตว์น้ำทั้งหลาย พระโพธิสัตว์จึงได้แหวกโคลนขึ้นมา ลืมตาแหงนดูท้องฟ้า แล้วกระทำสัจกิริยา แล้วประกาศว่า ข้าพเจ้าถือกำเนิดมาเป็นปลา เป็นผู้ถือศีล ตั้งแต่เกิดมาไม่เคยได้กินสัตว์เหล่าอื่นเลยแม้แต่ครั้งเดียว ด้วยคำสัตย์นี้ ขอฝนจนตกลงมา ทำให้หมู่ปลาและสัตว์น้ำทั้งหลายพ้นจากทุกข์เถิด พอกล่าวจบถึงกล่าวคำคาถาขอฝน เมื่อพระโพธิสัตว์กล่าวคาถาจบ บันดาลให้ฝนตกลงมาห่าใหญ่ น้ำเจิ่งนองไปเต็มห้วยหนอง สัตว์น้ำทั้งหลายจึงพ้นภยันตรายจากฝนแล้ง ตามความเชื่อถือแต่โบราณจึงเชื่อว่า หากได้ทำบุญและสวดคาถาปลาค่อแล้ว จะช่วยทำให้ฝนตกมาได้
ประเพณีไทยภาคอีสานการสวดคาถาปลาค่อ ก่อนจะเริ่มพิธีกรรมจะต้องเตรียมจัดหาเครื่องสักการบูชาซึ่งมีเทียน ๕ คู่ ดอกไม้ ๕ คู่ และเครื่องไทยทานเตรียมสถานที่อาจจัดเอาที่ใดที่หนึ่งในหมู่บ้านที่เห็นว่าเหมาะสม อาจปลูกปะรำขึ้นเป็นพิเศษก็ได้ ตอนเย็นนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย ๕ รูป มาเจริญพระพุทธมนต์เป็นเวลาสามวัน โดยสวดบทสวดเจ็ดตำนานย่อแล้วสวดคาถาปลาค่อให้ได้ ๑๐๘ คาบ หรือตามกำหนดวันคือวันอาทิตย์ ๖  จันทร์ ๑๕ อังคาร ๘ พุธ ๑๗ พฤหัสบดี ๑๙ ศุกร์ ๒๑ เสาร์ ๑๐ ก็ได้ ในช่วงเช้ามีการถวายภัตตาหารตามประเพณีจนครบสามวันเป็นเสร็จพิธี

วันจันทร์ที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยการบวชของชาวอีสาน


ประเพณีไทยการบวชของชาวอีสาน


การบวชหรืออุปสมบทจะมีอยู่ทุกภาค แต่ละภาคอาจมีประเพณีไทยแตกต่างกันออกไป ซึ่งที่แตกต่างกันมักจะเป็นพิธีพราหมณ์เข้ามาแทรก โดยเฉพาะภาคอีสานออกจะมีพิธีพราหมณ์เข้ามาปะปนมากมายดังจะกล่าวต่อไป
ชายชาวอีสานก่อนที่จะถึงวันอุปสมบทจะต้องจัดหาดอกไม้ ธูปเทียนใส่พานแล้วออกหาบอกลาญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงแล้วไปพักนอนอยู่วันก่อนอุปสมบทอย่างน้อย ๗ วัน และในช่วงนี้ให้หัดท่องสวดมนต์ ขานนาคไว้ก่อนและหัดสมาทานศีลห้าไว้ให้ดีให้คล่อง เมื่ออุปสมบทแล้วจะไม่มีปัญหา
พอถึงวันอุปสมบททุกอย่างต้องพร้อม เวลา ๑๐ นาฬิกา บางแห่งจะเป็นเวลา ๐๙.๐๐ น. ซี่งช่วงนี้ถือว่า เก้าดีสิบดี จะถือเอาช่วงเวลาใดก็ได้ พอได้เวลาพ่อแม่จะเป็นผู้ตัดผมก่อน หากมีปู่ย่าตายายก็จะให้ปู่ย่าตายายตัดก่อน แล้วคนอื่นๆที่เป็นญาติก็จะตัดต่อๆกันไป เสร็จแล้วให้ช่างโกนผมให้จนเกลี้ยงแล้วอาบน้ำชำระร่างกายใช้ขมิ้นทาให้เหลืองทั่วศีรษะ นัยว่าให้เหมือนสีของผ้าเหลืองจะได้บวชอยู่นานและดูงามตา
พอเพลนาคจะแต่งตัวซึ่งมีเครื่องแต่งตัวดังนี้ เสื้อชั้นใน , เสื้อครุย , ผ้ายกสำหรับนุ่ง , เข็มขัดเพชร , แหวน ๘ วง เพื่อเข้าพิธีสู่ขวัญนาค ซึ่งจะมีพ่อพราหมณ์เป็นคนทำขวัญให้ ประเพณีไทยการทำขวัญจะกล่าวเป็นภาษาอีสานปนบาลี มีการบรรยาความเป็นมาของชีวิตตั้งแต่ถือปฎิสนธิจนถึงบวชกล่าวถึงคุณของบิดามารดาข้าวปลาอาหารบุญคุณที่พ่อแม่เลี้ยงมา มีการร้องเป็นทำนองสารภัญญะฟังแล้วไพเราะจับใจบางคนเกิดความปิติซาบซึ้งในรสคำสอนถึงกับร้องไห้ก็มี
เมื่อทำขวัญเสร็จแล้วก็จะเวียนเทียนซ้ายขวาจนครบห้ารอบ แล้วก็แห่นาคไป ขณะนาคจะออกจากบ้านจะมีการโห่เอาฤกษ์แล้วแห่เป็นขบวนไปวัด บิดามารดาต้องอุ้มบาตรผ้าไตร ญาติพี่น้องถือเครื่องอัฐบริขาร ๘ ไตรอุปัชฌาย์ไตรกรรมวาจารย์พุ่มเทียนของถวายพระอันดับ ก่อนที่จะเข้าโบสถ์จะต้องเวียนโบสถ์ให้ครบสามรอบแล้วให้นาคโปรยทาน จากนั้นบิดามารดาจะจูงนาคเข้าโบสถ์ จากนั้นก็เป็นพิธีทางสงฆ์ต่อไป
เมื่อบวชเสร็จแล้วก็รับของถวายจากญาติพี่น้อง และแขกที่ได้รับเชิญไปจากนั้นจะมีการกรวดน้ำเพื่อแผ่ส่วนกุศลที่ได้อุปสมบทในวันนี้ไปให้แก่ญาติพี่น้องทั้งหลายที่ได้ล่วงลับไปแล้วในปรโลก ส่วนผู้ที่เป็นญาติโยมอุปัฎฐากต่อควรจะปวารณาตัวเสียในวันและเวลานี้