วันจันทร์ที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ประเพณีไทยเสี่ยงนางด้ง


ประเพณีไทยเสี่ยงนางด้ง

การเสี่ยงนางด้ง นิยมทำเมื่อฝนแล้งเพื่อเป็นการขอฝน และเสี่ยงทายว่าฝนจะตกหรือไม่และถ้าตกจะตกเมื่อใด นอกนี้อาจจะถามแม่นางด้งอย่างอื่นอีก เช่น ถามในเรื่องของหายตลอดจนโรคภัยไข้เจ็บ เป็นต้น
ประเพณีไทยเสี่ยงนางด้ง วิธีการเสี่ยงนางด้ง หากระด้งมา ๒ คู่ ซึ่งต้องเป็นของแม่หม้าย(ผัวตาย)จัดเครื่องบูชาครูได้แก่ เทียนและดอกไม้อย่างละ ๑ คู่ กระจก หวีสร้อยคอ กำไลแขน กำไลขาอย่างละ ๑ อัน และข้าวเหนียว ๑ ก้อน สร้อยคอ สร้อยแขน กำไลขา ทำด้วยก้านใบหมากเยา(ต้นสบู่) เอาสิ่งของดังกล่าวใส่กระด้งและเอากระด้งประกบหรือหันหน้าเข้าหากันมีเครื่องบูชาอยู่ข้างใน เอาไม้คานมาทาบกระด้งเป็นคู่ไขว้กันเป็นตีนกา มัดไม้คานแต่ละคู่ติดกับกระด้งให้แน่น นอกนี้มีเครื่องคาย ได้แก่ บายศรีพร้อมพาเสื้อพาผ้า ขันห้า ขันแปด คือ เทียนและดอกไม้อย่างละห้าคู่และแปดคู่ สุรา ๑ ขวด ไข่ต้ม ๑ ฟอง สากแม่หม้าย ๑ อัน เอาเครื่องเหล่านี้วางบนพาเสื้อพาผ้าตอกหลัก ๒ หลักสองข้างกระด้ง สมมุติให้เป็นหลักฝน ๑ หลัก และหลักแล้ง ๑ หลัก พอเตรียมเสร็จวาง กระด้งไว้ระหว่างหลักแล้วให้ผู้หญิง ๒ คน ซึ่งเป็นลูกหัวปีคนหนึ่งและลูกคนสุดท้องคนหนึ่ง นั่งหันหน้าเข้าหากันจับกระด้งตั้งชันขึ้นจากพื้นให้ไม้คานคู่หนึ่งตั้งชันกับพื้นดินอีกคู่หนึ่งกางออกไป ๒ ข้างคล้ายแขน มือทั้งสองของแต่ละคนจับไม้คานครงขอบกระด้งที่คล้ายเป็นโคนแขนทำพิธีป่าวสัคเคฯลฯ บอกกล่าวเทวดาและวิญญาณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้เข้ามาสิงกระด้งและขอให้ช่วยดลบัลดาลให้ฝนตกและดลบันดาลสิ่งอื่นๆตามที่ร้องขอ
หลังจากเตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้วเริ่มประเพณีไทยนางด้งด้วย หันหน้าพาว่าคำเซิ้งเป็นวรรคๆ ส่วนคนอื่นที่เป็นลูกคู่ว่าตามพร้อมๆกันหลายๆ จบจนกว่าดวงวิญญาณจะมาสิงกระด้งคือกระด้งจะเต้นหรือเคลื่อนที่ แต่ถ้าว่าคำเซิ้งหลายจบแล้วกระด้งยังไม่เคลื่อนที่ก็ให้เปลี่ยนคนคู่ใหม่จัดกระด้ง เมื่อกระด้งเต้นหรือเคลื่อนที่ได้แสดงว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสิงกระด้งแล้ว ต่อไปก็มีการถามหรือทายกันเกี่ยวกับฝนเช่น ถามว่าฝนจะตกหรือไม่ถ้าฝนตกแม่นางด้งจะตีหลักฝน ถ้าหากตีหลักแล้งแสดงว่าฝนจะแล้ง ถ้าแม่นางด้งทำการขุดร่องหลายๆครั้ง ซึ่งชาวอีสานเรียกว่า ก่วยหล่อ หมายความว่า ฝนจะตกในเร็ววันนี้และตกหนักด้วย อาจถามอีกว่าฝนจะตกเมื่อไร ขึ้นหรือแรมกี่ค่ำ และอาจถามอย่างอื่นอีก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น