ประเพณีไทยการบวชของชาวอีสาน
การบวชหรืออุปสมบทจะมีอยู่ทุกภาค
แต่ละภาคอาจมีประเพณีไทยแตกต่างกันออกไป
ซึ่งที่แตกต่างกันมักจะเป็นพิธีพราหมณ์เข้ามาแทรก
โดยเฉพาะภาคอีสานออกจะมีพิธีพราหมณ์เข้ามาปะปนมากมายดังจะกล่าวต่อไป
ชายชาวอีสานก่อนที่จะถึงวันอุปสมบทจะต้องจัดหาดอกไม้
ธูปเทียนใส่พานแล้วออกหาบอกลาญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูงแล้วไปพักนอนอยู่วันก่อนอุปสมบทอย่างน้อย
๗ วัน และในช่วงนี้ให้หัดท่องสวดมนต์
ขานนาคไว้ก่อนและหัดสมาทานศีลห้าไว้ให้ดีให้คล่อง เมื่ออุปสมบทแล้วจะไม่มีปัญหา
พอถึงวันอุปสมบททุกอย่างต้องพร้อม
เวลา ๑๐ นาฬิกา บางแห่งจะเป็นเวลา ๐๙.๐๐ น. ซี่งช่วงนี้ถือว่า เก้าดีสิบดี
จะถือเอาช่วงเวลาใดก็ได้ พอได้เวลาพ่อแม่จะเป็นผู้ตัดผมก่อน
หากมีปู่ย่าตายายก็จะให้ปู่ย่าตายายตัดก่อน
แล้วคนอื่นๆที่เป็นญาติก็จะตัดต่อๆกันไป เสร็จแล้วให้ช่างโกนผมให้จนเกลี้ยงแล้วอาบน้ำชำระร่างกายใช้ขมิ้นทาให้เหลืองทั่วศีรษะ
นัยว่าให้เหมือนสีของผ้าเหลืองจะได้บวชอยู่นานและดูงามตา
พอเพลนาคจะแต่งตัวซึ่งมีเครื่องแต่งตัวดังนี้
เสื้อชั้นใน , เสื้อครุย , ผ้ายกสำหรับนุ่ง , เข็มขัดเพชร , แหวน ๘ วง
เพื่อเข้าพิธีสู่ขวัญนาค ซึ่งจะมีพ่อพราหมณ์เป็นคนทำขวัญให้ ประเพณีไทยการทำขวัญจะกล่าวเป็นภาษาอีสานปนบาลี
มีการบรรยาความเป็นมาของชีวิตตั้งแต่ถือปฎิสนธิจนถึงบวชกล่าวถึงคุณของบิดามารดาข้าวปลาอาหารบุญคุณที่พ่อแม่เลี้ยงมา
มีการร้องเป็นทำนองสารภัญญะฟังแล้วไพเราะจับใจบางคนเกิดความปิติซาบซึ้งในรสคำสอนถึงกับร้องไห้ก็มี
เมื่อทำขวัญเสร็จแล้วก็จะเวียนเทียนซ้ายขวาจนครบห้ารอบ
แล้วก็แห่นาคไป ขณะนาคจะออกจากบ้านจะมีการโห่เอาฤกษ์แล้วแห่เป็นขบวนไปวัด
บิดามารดาต้องอุ้มบาตรผ้าไตร ญาติพี่น้องถือเครื่องอัฐบริขาร ๘
ไตรอุปัชฌาย์ไตรกรรมวาจารย์พุ่มเทียนของถวายพระอันดับ
ก่อนที่จะเข้าโบสถ์จะต้องเวียนโบสถ์ให้ครบสามรอบแล้วให้นาคโปรยทาน
จากนั้นบิดามารดาจะจูงนาคเข้าโบสถ์ จากนั้นก็เป็นพิธีทางสงฆ์ต่อไป
เมื่อบวชเสร็จแล้วก็รับของถวายจากญาติพี่น้อง
และแขกที่ได้รับเชิญไปจากนั้นจะมีการกรวดน้ำเพื่อแผ่ส่วนกุศลที่ได้อุปสมบทในวันนี้ไปให้แก่ญาติพี่น้องทั้งหลายที่ได้ล่วงลับไปแล้วในปรโลก
ส่วนผู้ที่เป็นญาติโยมอุปัฎฐากต่อควรจะปวารณาตัวเสียในวันและเวลานี้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น